วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไส้กรอกแปลงกาย

ไส้กรอกแปลงกาย / สำนักพิมพ์แม่บ้าน 2547




มาแล้วจ้า มาแล้วจ้า ไส้กรอกมาแล้วจ้า .....


ไส้กรอกเป็นอาหารยอดนิยมทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ สามารถนำมาประกอบอาหารได้สารพัดเมนู อร่อย หาซื้อได้ง่าย แถมหยิบทานได้สะดวกรวดเร็ว

"ไส้กรอกแปลงกาย" เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคุณแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยซุกซน สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากกว่าการรับประทานอาหาร การที่คุณแม่ดัดแปลงอาหารช่วยให้เด็ก ๆ เพลิดเพลินและทานอาหารได้มากขึ้น แถมคุณแม่ยังสามารถชวนลูกน้อยมาเป็นเพื่อนช่วยทำอาหารด้วยกันได้ ในเล่มมีภาพประกอบน่ารักและแสดงวิธีการทำอย่างละเอียดทุกขั้นตอน

กินข้าวกับอาม่า

กินข้าวกับอาม่า / โดยอดุลย์ รัตนมั่นเกษม
สำนักพิมพ์แสงแดด 2551




หากเอ่ยถึงอาหารจีน คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่รู้จัก ปาท่องโก๋ จับฉ่าย ข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยว บ๊ะจ่าง .. ฯลฯ อย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศจีนมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารมาเป็นเวลานานเกือน 4,000 - 5,000 ปีมาแล้ว ชาวจีนจึงได้ชื่อว่าพิถีพิถันในเรื่องการทำอาหารเป็นอย่างยิ่ง อาหารจีนมีเอกลักษณะเฉพาะตัว เช่น มีวัฒนธรรมการทานอาหารที่ร้อนกรุ่นอยู่เสมอ เพราะชาวจีนความเชื่อว่า การทำให้อาหารร้อนสามารทำลายกลิ่นคาว ขับไล่กลิ่นสาบ และขจัดกลิ่นเหม็นเขียวได้ หรือมีวัฒนธรรมการรวมกลุ่มรับประทานอาหารที่เรียกว่า "ทานหมู่" ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันอันสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของชาวจีนที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวและญาติพี่น้องของตนเป็นอย่างมาก


หนังสือเรื่อง "กินข้าวกับอาม่า" ผู้เขียนถ่ายทอดตำนาน ความเชื่อ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการกินอาหารของชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋วในประเทศไทยออกมาได้หลากหลายแง่มุม เนื้อหาแบ่งเป็น 4 ส่วน เช่น วัฒนธรรมการกิน : ศิลปะแห่งรสและชีวิต อาหารเทศกาล อาหารจีนจานเด่น และเครื่องดื่มของจีน ในแต่ละส่วนจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นเรื่องสั้น ๆ เพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย เช่น วัฒนธรรมการกินโต๊ะจีน วัฒนธรรมการใช้ตะเกียบ ไหว้บรรพบุรุษวันเช็งเม้ง จากซาลาเปาถึงเสี่ยวหลงเปา หื่ออี้ลูกชิ้นปลา เป็นต้น เนื้อเรื่องภายในเล่มถ่ายทอดในลักษณะผู้ใหญ่เล่าเรื่องให้ลูกหลานฟังแบบ "นั่งล้อมวงฟังไป กินข้าวไป" อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา


หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับอ่านทั่วไป แต่สำหรับลูกหลานชาวจีนในประเทศไทยหากได้อ่านคงมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและประเพณีของตนเองไม่น้อย


บ้านเกิดและเพื่อนเก่า

บ้านเกิดและเพื่อนเก่า / วาณิช จรุงกิจอนันต์
สำนักพิมพ์ มติชน / 2541



สมัยรุ่น ๆ จำได้ว่า อ่านงานเขียนของ "คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์" แล้วชอบมาก จากนั้นก็ติดตามหาอ่านเรื่อยมาไม่ว่าจะเป็น "ตุ๊กตา""เพื่อนผู้อยู่ในบ้าน""จดหมายถึงเพื่อน""ซอยเดียวกัน" ฯลฯ ชื่นชอบมากที่สุดคงเป็นเรื่อง "บ้านเกิดและเพื่อนเก่า"



กาลต่อมาหลังจากคุณวาณิช "ลาจาก" มติชน ก็ห่างเหินงานเขียนของเขาไป อาจเป็นเพราะมีนักเขียนใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะมีนวนิยายแปลญี่ปุ่น เช่น คิดะอิจิ, มิเกะเนะโกะ โฮล์มส์ แมวสามสียอดนักสืบ ให้เลือกอ่าน จึงลืมเลือนคุณวาณิชไป

จนมีอยู่วันหนึ่งเหลือบเห็นหนังสือเล่มนี้วางบนชั้นหนังสือที่บ้าน ตอนนั้นว่าง ๆ เลยหยิบมาอ่านอีกรอบและเริ่มหลงไหลกับตัวอักษรของคุณวาณิช อีกครั้ง รู้สึกเหมือนได้พบเพื่อนเก่า ได้พูดคุยทักทายสารทุกข์สุขดิบ ได้รื้นฟื้นความหลัง ฯลฯ และนี่คืองานเขียนที่มีเสน่ห์ของ "คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์" จริง ๆ



หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนเล่าชีวิตของตนเองตั้งแต่วัยเยาว์ครั้งยังอยู่ที่อำเภอบางปลาม้า ที่แวดล้อมด้วยเพื่อนฝูงและคนคุ้นเคย มีความสุขกับการปืนต้นไม้ ตกปลา ปั่นจิ้งหรีด กินขนมปังน้ำแข็งไสใส่น้ำหวาน จนเดินทางเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ



หากใครต้องการฟื้นความหลังครั้งเก่า ลองหยิบเล่มนี้มาอ่านน่าจะเหมาะ เพราะทำให้นึกถึงความหลังที่บางครั้งเราก็ลืมเลือนไป หรือบางทีก็นึกไม่ถึงว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่น่าสนใจและไม่น่าจดจำ "บ้านเกิดและเพื่อนเก่า" สามารถกระตุ้นความทรงจำในอดีตให้เราสุขใจอยู่ลึกๆ ได้ดีทีเดียว

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สีลม ย่าหยาและตำราอาหาร

สีลม ย่าหยาและตำราอาหาร / โดย วราภรณ์ เรืองสกุล
สำนักพิมพ์ Knowledge Plus / 2551

ที่มาที่ไป :

ได้มีโอกาสผ่านตาละครโทรทัศน์สัญชาติสิงคโปร์เรื่อง "บ้าบ๋า ย่าหยา รักยิ่งใหญ่จากใจดวงน้อย"(The Little Nyonya)ทาง ThaiTBS แล้วติดใจในวัฒนธรรมของชาว "เพอรานากัน" กลุ่มคนที่มีเชื้อสายมลายู-จีน ซึ่งชาวเพอรานากันคือ พ่อค้าจีนชาวฮกเกี้ยนที่เดินทางเข้ามาค้าขายในคาบสมุทรมลายู)

จากนั้นตั้งถิ่นฐานในมะละกา ประเทศมาเลเซีย แต่งงานกับชาวมาเลย์ท้องถิ่น เกิดสายเลือดใหม่ระหว่างชาวจีนกับหญิงมาเลย์ ชายเรียกว่า "บ้าบ๋า"หญิงเรียกว่า "ย่าหยา" ในประเทศไทยชาวเพอรานากันจะอาศัยอยู่ในภูเก็ต (มิน่าเราถึงคุ้นตากับบ้านของครอบครัวนางเอก) ดังนั้นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนภูเก็ตจึงมีกลิ่นอายของเพอรานากันหลงเหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ประเพณี หรือสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปตุกิส ปัจจุบันสามารถพบเห็นได้ในเมืองมะละกา ปีนัง มาเก๊า และไทย (ชิโนโปตุกิส คือชื่อเรียกรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะที่อยู่ในแหลมมลายู เกิดขึ้นในยุคแห่งจักรวรรดินิยมของตะวันตก กล่าวคือ ฝรั่งเป็นผู้ออกแบบ ชาวจีนเป็นผู้สร้าง) ทำให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวในสังคมของกลุ่มชนสามเชื้อชาติ คือ โปรตุเกส จีน มาเลย์

หลงไปซะไกล ... ขอวกกลับมาก่อนจะตกขอบ หลังจากเกิดความประทับใจละคร เราก็ตามหาหนังสือเกี่ยวกับย่าหยา จนมาพบกับ "สีลม ย่าหยา และตำราอาหาร" โดยคุณวราภรณ์ เรืองสกุล เราไม่รีรอที่จะเปิดอ่าน ยิ่งอ่านก็ยิ่งเพลิน นึกถึงภาพคุณย่าคุณยายใจดี มานั่งเล่าเรื่องราวในอดีต ชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อน (ผ่านผู้เขียนซึ่งเป็นลูกสาว)ให้ลูกหลานฟัง (เหมือนน้องโอ๊ค+น้องออมที่ชอบฟังอาม่าเล่าเรื่องในอดีต)ภายในเล่มนอกจากมีประวัติของคุณแม่ผู้เขียนแล้ว ยังมีสูตรอาหารที่เราว่าชื่อแปลกแต่เป็นอาหารประจำบ้านของคุณย่า เช่น ลูกระเบิด(Hata Babi),ขนมตั๊ด (Kueh Tart)นอกจากนี้ผู้เขียนยังรวบรวมประวัติชุมชนจีนบ้าบ๋า ฯลฯ ภายใต้หัวข้อ "บ้าบ๋า ย่าหยา...จีนจากสิงคโปร์และช่องแคบมะละกา" เพื่อเป็น "ข้อมูลเสริมประวัติศาสตร์สังคมอย่างไม่เป็นทางการ" อีกด้วย

*** หากใครชอบอ่านชีวประวัติ หรือประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ หนังสือเล่มนี้ไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน ***

วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เพื่อนผู้อยู่ในบ้าน

เพื่อนผู้อยู่ในบ้าน / โดย วาณิช จรุงกิจอนันต์
พิมพ์ครั้งที่ 5 สำนักพิมพ์มติชน 2543



หากเอ่ยชื่อ "วาณิช จรุงกิจอนันต์" คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นนักเขียนแนวหน้าคนหนึ่งของประเทศไทย งานเขียนของเขาเรียบง่าย แต่มีชีวิตชีวา อบอุ่นเหมือนเราร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดียวกับเขา


เพื่อนผู้อยู่ในบ้าน : เขียนขึ้นเมื่อ "วาณิช" ต้องอยู่ในบ้านคราวน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ สิ่งมีชีวิตรอบ ๆ ตัวทำให้เกิดแรงบันดาลใจเขียนให้ตนเองอยู่ท่ามกลางสัตว์เล็กสัตว์น้อย ได้แก่ กิ่งก่า กบ เขียด อึ่งอ่าง ตะเข็บ เห็บ สุนัข งู ฯลฯ และหาเรื่องทะเลาะกับสัตว์เหล่านั้นได้ตลอดเวลา !!!


ด้วยเล่มที่เล็ก หนาไม่เกิน 100 หน้า สำนวนทึ่ตลก (แบบร้ายกาจ) ทำให้อ่านจบในเวลาอันรวดเร็วอย่างมีความสุข คิดถึงเจ้างูทางมะพร้าว เจ้าหมาพักตร์พริ้งกับเจ้าเกียรติศักดิ์ เจ้าแมลงสาบที่ด่าประชดก่อนตายหลังโดนดีดีทีพ่นใส่ตัว "ปาณาติปาตาเวรมณีสิขา ..... ไอ้หมาวัด" ทำให้อารมณ์ดี ยิ้มไปได้นานเลยทีเดียวอีกทั้งภาพประกอบที่น่ารัก หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ผู้สูงอายุยันเด็กประถมเลยทีเดียว

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เรื่องเล่าร้านกาแฟ

เรื่องเล่าร้านกาแฟ / โดย สุพัตรา
สำนักพิมพ์วงกลม 2551


ทำไมต้องเล่าเรื่องกาแฟ นั้นสิ ทำไมต้องเล่า เป็นเพราะกระแสการดื่มกาแฟมาแรงกระมัง ส่วนนึงเป็นเพราะชอบทานกาแฟ แบบขม เข้ม หนัก (โลว์โซ ชะมัด) ยิ่งทานยิ่งชอบ ยิ่งชอบยิ่งติด เลยต้องหาหนังสือมาอ่าน จึงมาพบกับหนังสือเล่มนี้

เรื่องเล่าร้านกาแฟ : เป็นเรื่องจริงของเพื่อนกลุ่มนึง ที่มีความฝันว่าจะเป็นเจ้าของร้านกาแฟ หลังจากทุกอย่างเริ่มลงตัว (ด้วยความบังเอิญ) ร้านกาแฟจึงเกิดขึ้น ผู้เขียนเล่าถึงประสบการณ์การเป็นเจ้าของร้านตั้งแต่การหาโลเคชั่น เรียนทำกาแฟ ศึกษาชนิดของกาแฟ เตรียมตัวเป็นบาริสต้า หาพนักงานประจำร้าน สิ่งที่สำคัญจะทำอย่างไรจึงจะมีลูกค้าเข้าร้านมาก ๆ แต่ระหว่างความฝันกับความเป็นจริง มักมีเส้นบาง ๆ มาขั้นกลางเสมอ สุดท้ายร้านกาแฟจำเป็นต้องปิดตัวลงด้วยความอาลัยรักของเพื่อนทุกคน

หากใครอ่านถึงตรงนี้คงคิดว่าหนังสือเล่มนี้วิชาก๊าน วิชาการ แต่ไม่เลย ผู้เขียนใช้ภาษาง่าย ๆ สบาย ๆ อ่านแล้วรู้สึกอบอุ่น ในเล่มมีภาพประกอบน่ารัก บอกเทคนิคการทำกาแฟพร้อมสูตร ผู้อ่านสามารถสัมผัสได้ถึงมิตรภาพของคำว่าเพื่อนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รวมทั้งได้เห็นการต่อสู้เพื่อความคงอยู่ของร้าน เช่น การเปิดคลาสสอนการเขียนหนังสือ คลาสสอนวาดภาพสีน้ำ ฯลฯ อ่านแล้ววางไม่ลงจริง ๆ



ปอลอลิง 1 : เรื่องนี้เคยทำเป็นละครในทีวีช่อง 7
ปอลอลิง 2 : "องค์ภา" เคยแวะมาทานกาแฟร้านนี้ด้วย