สีลม ย่าหยาและตำราอาหาร / โดย วราภรณ์ เรืองสกุล
สำนักพิมพ์ Knowledge Plus / 2551
ที่มาที่ไป :
ได้มีโอกาสผ่านตาละครโทรทัศน์สัญชาติสิงคโปร์เรื่อง "บ้าบ๋า ย่าหยา รักยิ่งใหญ่จากใจดวงน้อย"(The Little Nyonya)ทาง ThaiTBS แล้วติดใจในวัฒนธรรมของชาว "เพอรานากัน" กลุ่มคนที่มีเชื้อสายมลายู-จีน ซึ่งชาวเพอรานากันคือ พ่อค้าจีนชาวฮกเกี้ยนที่เดินทางเข้ามาค้าขายในคาบสมุทรมลายู)
จากนั้นตั้งถิ่นฐานในมะละกา ประเทศมาเลเซีย แต่งงานกับชาวมาเลย์ท้องถิ่น เกิดสายเลือดใหม่ระหว่างชาวจีนกับหญิงมาเลย์ ชายเรียกว่า "บ้าบ๋า"หญิงเรียกว่า "ย่าหยา" ในประเทศไทยชาวเพอรานากันจะอาศัยอยู่ในภูเก็ต (มิน่าเราถึงคุ้นตากับบ้านของครอบครัวนางเอก) ดังนั้นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนภูเก็ตจึงมีกลิ่นอายของเพอรานากันหลงเหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ประเพณี หรือสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปตุกิส ปัจจุบันสามารถพบเห็นได้ในเมืองมะละกา ปีนัง มาเก๊า และไทย (ชิโนโปตุกิส คือชื่อเรียกรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะที่อยู่ในแหลมมลายู เกิดขึ้นในยุคแห่งจักรวรรดินิยมของตะวันตก กล่าวคือ ฝรั่งเป็นผู้ออกแบบ ชาวจีนเป็นผู้สร้าง) ทำให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวในสังคมของกลุ่มชนสามเชื้อชาติ คือ โปรตุเกส จีน มาเลย์
หลงไปซะไกล ... ขอวกกลับมาก่อนจะตกขอบ หลังจากเกิดความประทับใจละคร เราก็ตามหาหนังสือเกี่ยวกับย่าหยา จนมาพบกับ "สีลม ย่าหยา และตำราอาหาร" โดยคุณวราภรณ์ เรืองสกุล เราไม่รีรอที่จะเปิดอ่าน ยิ่งอ่านก็ยิ่งเพลิน นึกถึงภาพคุณย่าคุณยายใจดี มานั่งเล่าเรื่องราวในอดีต ชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อน (ผ่านผู้เขียนซึ่งเป็นลูกสาว)ให้ลูกหลานฟัง (เหมือนน้องโอ๊ค+น้องออมที่ชอบฟังอาม่าเล่าเรื่องในอดีต)ภายในเล่มนอกจากมีประวัติของคุณแม่ผู้เขียนแล้ว ยังมีสูตรอาหารที่เราว่าชื่อแปลกแต่เป็นอาหารประจำบ้านของคุณย่า เช่น ลูกระเบิด(Hata Babi),ขนมตั๊ด (Kueh Tart)นอกจากนี้ผู้เขียนยังรวบรวมประวัติชุมชนจีนบ้าบ๋า ฯลฯ ภายใต้หัวข้อ "บ้าบ๋า ย่าหยา...จีนจากสิงคโปร์และช่องแคบมะละกา" เพื่อเป็น "ข้อมูลเสริมประวัติศาสตร์สังคมอย่างไม่เป็นทางการ" อีกด้วย
*** หากใครชอบอ่านชีวประวัติ หรือประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ หนังสือเล่มนี้ไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน ***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น